บ้านดี…ดีอย่างไร (ตอน 1)

บ้านที่ดีไม่ใช่บ้านที่ใหญ่โต มีราคาแพง หรือต้องตามหลักฮวงจุ้ยอย่างหาที่ติมิได้ หากแต่ต้องสามารถตอบสนองความต้องการใช้สอยของผู้อยู่อาศัยได้อย่างครบถ้วนตามวิถีชีวิตของแต่ละบุคคล ไม่ขัดต่อหลักการออกแบบตามหลักสถาปัตยกรรมและตำแหน่งทิศทางตามสภาพภูมิประเทศของแต่ละท้องถิ่น   นอกเหนือจากนั้นการจัดชั้นคุณภาพของบ้านที่ดีนั้นดูได้จากความพิถีพิถันและการใส่ใจในรายละเอียดขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่ได้รับการออกแบบและคัดสรร นำมาประกอบเป็นตัวบ้านที่จะจรรโลงความสุนทรียภาพของการอยู่อาศัย และสามารถบ่งบอกเอกลักษณ์ของผู้ครอบครองได้อย่างชัดเจน บ้านที่ออกแบบได้ดีไม่จำกัดถึงรูปแบบ (Style) และยุคสมัย (Era) ทั้งนี้ขึ้นกับความชื่นชอบ ความฝันและความพึงพอใจของเจ้าบ้าน ความลงตัวในการใช้งานและความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม การให้ความสำคัญในรายละเอียดที่ประกอบเข้าเป็น “องค์ประกอบที่ดีของบ้าน (Good houses parts)” อาทิเช่น การออกแบบห้องเก็บของใต้บันได การให้มีห้องเก็บอาหารแห้งในครัว การเตรียมห้องโถงหลังบ้าน(Mudroom) ชั้นวางของในห้องซักรีด มุมระเบียงส่วนตัวสำหรับตากผ้า มุมพักผ่อนเฉลียงรอบบ้าน รูปทรงหลังคาและรายละเอียดตกแต่ง แม้กระทั่งรูปแบบของบานประตู – หน้าต่างที่เรียบร้อยสวยงาม  ล้วนสะท้อนถึงระดับของความเป็นบ้านที่ดี องค์ประกอบสำคัญที่ควรคำนึงถึงในการออกแบบบ้านดี

  • บุคลิกบ้าน (Character) ที่จะสะท้อนวิถีชีวิตและบ่งบอกความเป็นตัวตนของผู้ครอบครอง
  • ความสะดวกสบาย (Comfort) ที่ให้ความสุขความสุนทรียภาพ จากการตอบสนองการใช้สอยได้อย่างลงตัวไม่ติดขัด
  • ความกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม (Harmony) ที่หล่อหลอมความสัมพันธ์กับธรรมชาติ และความสามารถเชื่อมบรรยากาศจากสิ่งแวดล้อมภายนอกสู่ตัวบ้าน
  • วัสดุคุณภาพ (Quality Materials) ที่สามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสมลงตัว สวยงามและคงทน แม้วันเวลาจะผ่านไปจากรุ่นสู่รุ่น