การตรวจงานสุขภัณฑ์

การตรวจงานสุขภัณฑ์

สวัสดีครับ เมื่อเราวางระบบสุขาภิบาลเรียบร้อย รวมทั้งปูกระเบื้องพื้นและผนังห้องน้ำแล้ว ก็จะถึงขั้นตอนการติดตั้งสุขภัณฑ์ ซึ่งผมมีข้อสังเกตง่ายๆในการตรวจงานมาฝากครับ

ก่อนติดตั้งสุขภัณฑ์ควรทดสอบแรงดันน้ำในระบบท่อเสียก่อน เพื่อดูรอยต่อต่าง ๆ และป้องกันการรั่วซึมทั้งระบบ

การติดตั้งสุขภัณฑ์ควรกระทำในพื้นที่ที่งานก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ เช่น ในช่วงเวลาการทาสี หรือขั้นตอนการเก็บงาน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภัณฑ์

ก่อนติดตั้งสุขภัณฑ์ควรเช็คตำแหน่งท่อน้ำดี น้ำเสีย และปรับระดับพื้นผิวให้ได้มาตรฐานเสียก่อน

หากเป็นสุขภัณฑ์ที่ใช้ไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ควรตรวจสอบระบบไฟฟ้านั้นก่อนติดตั้งจริง

ตรวจเช็คระยะขอแขวนหรือจุดจับยึดต่าง ๆ ไม่ว่าจะยึดกับผนังหรือพื้นให้ถูกต้อง

ติดตั้งสุขภัณฑ์ให้ได้ฉากและได้ระดับ ไม่ลาดเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง และที่สำคัญในการติดตั้งสุขภัณฑ์ อย่าลืมใส่ลูกยางระหว่างฐานสุขภัณฑ์กับปากท่อน้ำทิ้ง เพื่อป้องกันการรั่วซึมระหว่างการใช้งาน

หลังจากติดตั้งเสร็จ และรอให้รอยเชื่อมต่อแห้งสนิทแล้ว ให้ทดสอบการทำงานของสุขภัณฑ์ให้แน่ใจ เช่น โถส้วมชักโครกให้ตรวจสอบระบบน้ำเข้าแทงค์ให้ได้ตามระดับที่ถูกต้อง ไม่มีการซึมออกนอกตัวสุขภัณฑ์ หรือรั่วซึมลงสู่ในโถส้วม กดชักโครกและสังเกตดูการไหลเวียนของน้ำ ในการนำพาสิ่งปฏิกูลลงไป

สำหรับตอนนี้ผมขอจบเพียงเท่านี้ครับ ขอให้เที่ยวปีใหม่ด้วยความสุขและปลอดภัยกันทุกท่านนะครับ

ท่อระบายอากาศ

เราจำเป็นต้องมีท่อระบายอากาศขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว ต่อพ่วงเข้ากับท่อระบายน้ำ โดยนิยมให้ปลายท่อระบายอากาศนี้ชูสูงขึ้นไปถึงระดับหลังคา เพื่อสร้างความสมดุลของอากาศภายในท่อระบายน้ำเสียและท่อโสโครก ทันทีเมื่อมีการราดน้ำจากสุขภัณฑ์ลงในท่อ อากาศจะถูกไล่โดยน้ำและสิ่งปฏิกูลไปสู่พื้นที่ว่างในระบบท่อ และถ้าหากอากาศไม่มีทางออกสู่ภายนอก อากาศก็จะย้อนกลับผุดออกมาทางสุขภัณฑ์ต่าง ๆ ในลักษณะฟองอากาศ และฟองอากาศเหล่านี้ก็มักจะพาเอากลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ตามมาด้วยครับ