สวัสดีครับ ต่อไปจะเป็นขั้นตอนงานปูผิวพื้นทั้งส่วนผิวผนังและพื้นครับ วัสดุที่นิยมนำมาปูพื้นกันก็ได้แก่ไม้ และหินทั้งธรรมชาติและสังเคราะห์ แต่ไม่ว่าท่านจะปูผนังและพื้นด้วยวัสดุใดก็ตาม ก็ต้องมีการปรับผิวพื้นให้ได้ระดับเสมอกันหรือได้ระดับตามที่ต้องการก่อนจะลงมือติดตั้ง และหากเราพบปัญหาผนังที่จะปูนั้นมีความหนามากกว่าแนววงกบก็ควรเสริมความหนาของวงกบเข้าไปให้ได้ระดับก่อน แต่ถ้าท่านทราบก่อนว่าผนังส่วนที่จะปูกระเบื้องหรือหินมีความหนามากกว่าแนววงกบอยู่แล้ว ท่านก็เตรียมวงกบที่มีขนาดใหญ่กว่ามาตรฐานไว้ได้เลย ส่วนการติดตั้งวัสดุปูนั้นเราควรปูจากชั้นบนลงมาชั้นล่างจะดีกว่า และควรปูส่วนของห้องน้ำก่อนค่อยปูพื้นไม้ เพื่อป้องกันปัญหารอยเปื้อนและคราบสกปรกต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการทำงานครับ
งานปูกระเบื้องผนังควรทำก่อนงานปูพื้น ควรหาแนวดิ่งและฉากของผนังห้อง และไล่การปูจากบนลงล่าง อย่าลืมปรับระดับของผนังให้มีความเสมอเท่ากันทั้งผืนก่อนนะครับโดยการฉาบปรับระดับก่อน ในขณะที่ปูนฉาบผนังกำลังเซตตัว เราจะสร้างพื้นผิวให้เกิดรอยขรุขระ ทำให้กระเบื้องติดได้แน่นและทนทาน ที่สำคัญต้องรักษาแนวการปูให้ได้ระดับเท่ากัน โดยการตีเส้นกำหนดแนวการปู ควรมีการทำ SHOP DRAWING แสดงแนวเศษกระเบื้อง จะทำให้งานจบได้เรียบร้อยสวยงาม ที่สำคัญต้องเลือกใช้ปูนกาวให้ถูกชนิดกับคุณสมบัติของกระเบื้องเพื่อคุณภาพงานที่คงทนครับ
การปูพื้นด้วยไม้ที่ดีจะต้องเริ่มจากการปรับผิวปูนให้เรียบ และได้ระดับที่ดีเสียก่อนครับ และปล่อยให้ผิวปูนแห้งเรียบจนได้ที่แล้วจึงทากาวประสานลงไปให้ทั่วขณะปูพื้น เพื่อป้องกันความชื้นใต้แผ่นไม้เราควรรองด้วยแผ่นหรือน้ำยากันความชื้นด้วยครับ การปูพื้นไม้สามารถปูบนแผ่นไม้อัด หรือปูบนตงไม้เย็บด้วยตะปู เพื่อให้พื้นไม้ติดแน่นทนทานมากขึ้นครับ หลังปูพื้นไม้เสร็จแล้วให้ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 วัน จนกาวแห้งสนิทจึงเริ่มขัดพื้นให้เรียบพร้อมกับทำความสะอาดให้ปราศจากฝุ่น จึงลงทับหน้าด้วยวัสดุเคลือบผิวไม้ ข้อควรระวังคืออย่าให้ช่างปูไม้จนชิดแนวผนัง ควรเว้นช่องเพื่อให้ไม้ได้ขยายตัวประมาณ 1 เซนติเมตรซึ่งสามารถปิดทับด้วยบัวเชิงผนังได้
งานปูกระเบื้องพื้นชั้นล่างที่ดีควรเริ่มมาตั้งแต่งานก่อสร้างพื้นที่ถูกต้องได้มาตรฐานครับ โดยทั่วไปแล้วการปูกระเบื้องช่างต้องนำกระเบื้องไปแช่น้ำให้อิ่มเสียก่อนจึงนำมาปู เพื่อป้องกันกระเบื้องดูดน้ำออกจากปูนและให้กำชับมิให้ช่างปูกระเบื้องแบบซาลาเปาโดยเด็ดขาดครับ งานปูจะใช้ปูนซีเมนต์หรือกาวซีเมนต์เป็นตัวยึดเกาะก็ได้ แต่ต้องปาดกาวซีเมนต์ให้ทั่วทั้งแผ่นเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง และต้องพยายามอย่าให้เกิดช่องว่างระหว่างแผ่นพื้นกับเนื้อปูน เพราะจะทำให้ความแข็งแรงของแผ่นพื้นไม่สม่ำเสมอกัน อาจทำให้เกิดการแตกหักได้เมื่อมีแรงกดหรือแรงเหยียบ โดยใต้แผ่นพื้นคอนกรีตควรปูด้วยแผ่นพลาสติกเพื่อป้องกันความชื้นด้วยเสมอ มิฉะนั้นอาจเกิดรอยหยดน้ำขึ้นมาบริเวณร่องยาแนวกระเบื้องซึ่งจะแก้ไขได้ยากมากครับ ส่วนการปูหินต้องเช็คระดับและวางแนวให้ได้เสียก่อน และควรเว้นร่องระหว่างหินที่ปูประมาณ 0.5 มิลลิเมตร เพื่อระบายความชื้นของปูนทรายใต้หิน และอย่าลืมทาน้ำยากันซึมที่ตัวหินทั้ง 6 ด้านก่อนปูด้วยนะครับ