บ้านดี…ดีอย่างไร (ตอน 4)

ความกลมกลืน (Harmony)
     ที่ดินที่จะปลูกสร้างบ้านสักหนึ่งหลังมักจะมีมุมมองที่น่าสนใจแตกต่างกันไปตามทำเลที่ตั้ง ไม่ว่าจะเป็นมุมมองทางธรรมชาติ เช่น ภูเขา ทุ่งหญ้า ทะเล หรือภูมิทัศน์แบบเมือง แต่ทุกทำเลอย่างน้อยจะมีจุดที่ดีที่สุดที่สามารถจะเปิดมุมมองและวางตำแหน่งห้องที่สำคัญ เพื่อสร้างคุณค่าจากมุมที่น่าสนใจนั้น การออกแบบบ้านที่ดีนอกจากจำเป็นต้องคำนึงถึงการวางตัวบ้านต้องตามหลักภูมิประเทศ  (Geographic) และความกลมกลืนต่อเนื่องกับสภาพแวดล้อมรอบด้าน การเปิดมุมมองที่เหมาะสมสู่จุดสนใจภายนอกเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เมื่อมุมมองถูกบดบังหรือละเลย เมื่อแสงธรรมชาติไม่สามารถเข้าสู่ภายในบ้านอย่างพอเพียง เมื่อทิศทางลมไม่สามารถไหลผ่านมายังตัวบ้านหรือเมื่อการสัญจรระหว่างภายในและภายนอกตัวบ้านไม่ไหลลื่นต่อเนื่อง บ้านก็จะไม่ได้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมภายนอกนั้นอย่างเต็มที่

การเปิดมุมมองสู่ภายนอก (Taking the view)
     นับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเพิ่มคุณค่าให้กับพื้นที่บริเวณนั้นอันจะส่งผลต่อความรู้สึก และอารมณ์แห่งความสุนทรียภาพต่อผู้ใช้ภายในห้อง มุมมองที่ดีอาจไม่จำเป็นต้องเป็นธรรมชาติที่สวยงาม แต่อาจเป็นมุมมองที่สัมผัสแล้วรู้สึกสบาย  ก่อเกิดจินตนาการต่อเนื่องที่กว้างไกลไม่ว่าเป็นภูมิทัศน์ของเมือง เส้นขอบฟ้าของตึกระฟ้าหรืออาจเป็นจุดสนใจที่เราสร้างขึ้น เช่น มุมน้ำพุ สวนหย่อม รูปปั้น และรูปภาพ เป็นต้น  ตำแหน่ง ขนาด และรูปแบบของช่องเปิดมีส่วนให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน ช่องเปิดสี่เหลี่ยมและกว้างให้มุมมองที่เป็นอิสระสงบนิ่ง ในขณะที่ช่วงเปิดแบบโค้งหรือกลมให้อารมณ์ที่อ่อนไหว และเน้นความน่าสนใจของทิวทัศน์ภายนอก

การใช้วัสดุธรรมชาติ (The nature of meterial)
     วัสดุตกแต่งผนังและเสาภายนอกอาคารตลอดจนชนิดของกระเบื้องหลังคา นอกจากจะทำให้บ้านดูสวยงาม หนักแน่นดูมีเรื่องราวน่าค้นหาแล้วยังสะท้อนความผสมผสานกลมกลืนกับธรรมชาติและภูมิทัศน์รอบบ้าน ในขณะเดียวกันอาจสามารถสะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่นของการอยู่อาศัยได้อีกด้วย วัสดุที่ใช้อาจเป็นไม้ หินตกแต่งธรรมชาติ อิฐ หรือดินเผา ที่สามารถสร้างความรู้สึกสงบนิ่งและอ่อนโยนต่อธรรมชาติ

มุมพักผ่อนภายนอก (The place for outdoor)
     มุมพักผ่อนภายนอกนับเป็นองค์ประกอบที่จะเติมเต็มการพักผ่อนที่สมบูรณ์ให้กับชีวิต เฉลียงและระเบียงตลอดลานกิจกรรมภายนอก (Decking) ไม่ว่าจะเล็กเพียงสามารถวางเก้าอี้นั่งเล่นได้สัก 2 ตัว  หรือระเบียงกว้างที่สามารถจัดงานปาร์ตี้รองรับคนได้มากกว่า 10 คน ล้วนให้กลิ่นไอของความผ่อนคลายสบาย ๆ แบบเป็นกันเองท่ามกลางบรรยากาศแวดล้อมของธรรมชาติรอบบ้าน เฉลียงที่มีหลังคาปกคลุมที่ถูกออกแบบจัดวางในตำแหน่งที่เหมาะสมเปิดมุมมองสู่ภูมิทัศน์ที่สวยงาม และรับสายลมแสงแดดยามเช้าที่พัดผ่านเฉลียงเข้าสู่ตัวบ้านได้อย่างเพียงพอ ตลอดจนระเบียงที่ไร้สิ่งกีดขวางทางสายตาที่เปิดมุมมองกว้างออกไปในท้องฟ้าจะก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความสุนทรียภาพที่ชวนหลงใหลและเติมคุณค่าให้กับตัวบ้านอย่างเต็มที่

บ้านกับระดับดิน (Meeting the land)
     หลายคนมักละเลยรายละเอียดของการออกแบบจุดเชื่อมต่อระดับระหว่างตัวบ้านและเฉลียงบ้านกับระดับพื้นดินรอบบ้าน  การออกแบบขั้นต่างระดับ บันไดเฉลียง  และการจัดสวนไม้ประดับล้วนสร้างความสัมพันธ์  และความต่อเนื่องของความสูงของพื้นที่ใช้สอยที่อยู่ต่างระดับกับพื้นดินรอบบ้าน  นอกจากจะช่วยเน้นให้ตัวบ้านดูโดดเด่น จังหวะของการลดหลั่นและวัสดุที่แตกต่างกัน ยังสร้างบรรยากาศและส่งผ่านอารมณ์ความรู้สึกจากกิจกรรมหนึ่งไปสู่อีกกิจกรรมหนึ่ง และยังช่วยสร้างความกลมกลืนระหว่างตัวบ้านกับผืนดิน เช่นการจบจุดต่อเนื่องระหว่างบ้านและพื้นดินด้วย เฉลียงไม้ ขั้นบันไดหินธรรมชาติ และไม้พุ่ม จะหลอมความสัมพันธ์ระหว่างบ้านและบริเวณรอบบ้านเข้าไว้เป็นหนึ่งเดียว