บ้านดี…ดีอย่างไร (ตอน 5)

วัสดุคุณภาพ (Quality Material)
     บ้านที่ดีมีคุณภาพไม่ได้หมายถึงบ้านที่มีราคาแพง แต่ความเรียบร้อยสวยงาม ความลงตัว และความคงทนต่อการใช้งานต่างหากถือเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา เพราะบ้านเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงและมีอายุการใช้งานค่อนข้างนาน บางครั้งในหนึ่งช่วงชีวิตอาจมีโอกาสสร้างบ้านได้เพียงครั้งเดียว ดังนั้นการพิจารณาเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพเป็นสิ่งจำเป็น โดยทั่วไปการเลือกใช้วัสดุให้เหมาะสมควรพิจารณาจากความเหมาะสมจากการใช้งานและอารมณ์ความรู้สึกของผู้ใช้เป็นที่ตั้ง วัสดุไม้ หิน โลหะ กระเบื้อง คอนกรีต ล้วนมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน หินเป็นวัสดุที่คงทนให้อารมณ์ที่หนักแน่น ขัดเงาแล้วให้ความรู้สึกหรูหรา ไม้ให้ความรู้สึกที่ผ่อนคลาย อบอุ่นอ่อนโยนต่อการสัมผัส ในขณะที่โลหะให้ความรู้สึกกะทัดรัด คล่องตัว เบา  และดูร่วมสมัย

การใช้วัสดุพื้นผิวที่มีคุณภาพ (Floor Finishing)
     วัสดุที่นำมาทำผิวพื้นมีอิทธิพลต่อบรรยากาศภายในห้องที่แตกต่างกัน สี ความเรียบเนียนของผิววัสดุ  ความมันวาวมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกทันทีที่ได้สัมผัส พื้นหินและกระเบื้องเน้นการใช้งานที่สมบุกสมบันทนทาน แต่ต่างที่ความหรูหราและความเป็นธรรมชาติ จึงเหมาะใช้บริเวณพื้นชั้นล่างส่วนสาธารณะ ในขณะที่พื้นไม้ให้ความรู้สึกอบอุ่น อ่อนโยน สงบ และความเป็นกันเอง จึงมักใช้ในพื้นที่ส่วนตัว เช่น ห้องนอน ห้องพระ ไม้เนื้อแข็งเหมาะกับการปูพื้น ในขณะที่ไม้เนื้ออ่อนเหมาะกับการกรุผนังหรือทำเฟอร์นิเจอร์ สีพื้นที่อ่อนจะให้ความรู้สึกโปร่งเบาและดูกว้างกว่าพื้นสีเข้ม ผิวสัมผัสเรียบมันวาวเหมาะใช้สำหรับพื้นที่ภายในมากกว่าภายนอก

การใช้วัสดุกรุผิวผนัง (Special Surface)
     นอกเหนือจากความจำเป็นในการปูผิวผนังด้วยกระเบื้องหรือหินตามการใช้งานในส่วนห้องน้ำหรือห้องครัวแล้ว การเลือกใช้วัสดุปูผิวผนังในพื้นที่ส่วนอื่นทั้งภายในและภายนอกตามตำแหน่งที่เหมาะสมยังช่วยสร้างจุดสนใจความสวยงาม และเพิ่มคุณค่าให้กับบ้านหลังนั้นในขณะเดียวกันยังช่วยลดความกระด้างของตัวบ้านลงด้วยความเป็นธรรมชาติ เช่นผนังหินธรรมชาติผิวหยาบบริเวณเสาหรือฐานบ้าน ทำให้ตัวบ้านดูขรึม หนักแน่น มั่นคง ในขณะเดียวกันแผงตกแต่งไม้ช่วยลดการดูดซับความร้อนของผนังก่ออิฐและทำให้บ้านดูอ่อนโยนสวยงาม

รายละเอียดปลีกย่อย (The detail that count )
     รายละเอียดปลีกย่อยที่สามารถสัมผัสได้ด้วยตานับเป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะบ่งบอกถึงคุณภาพของบ้านที่ดี การใช้คอนกรีตหรือปูนซีเมนต์ที่มีคุณภาพ ความเรียบร้อยของงานฉาบผิวผนัง  แนวดิ่ง ฉาก ของเหลี่ยมผนัง แนวระดับของผนังต่อฝ้าเพดาน ความเรียบเนียนของฝ้าเพดาน การจบของรอยต่อระหว่างวัสดุปูผิว 2 ชนิด ความพอดีและลงตัวของการติดตั้งชุดประตูและหน้าต่างที่แนบสนิทกับแนวผนัง ตลอดอุปกรณ์บานพับ ลูกบิดมือจับที่มีคุณภาพแข็งแรงทนทาน การใช้สุขภัณฑ์และอุปกรณ์ห้องน้ำที่ดีและการติดตั้งอุปกรณ์ที่แน่นหนาได้แนวได้ระดับ ตลอดจนความเรียบร้อยของการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า  สวิตซ์และปลั๊กเหล่านี้ เป็นต้น ล้วนเป็นตัวที่จะยกระดับของงานที่ดีมีคุณภาพ

งานสีและผิวสัมผัส (The finishing touch) 
     นอกเหนือจากการเอาใจใส่ในรายละเอียดผนัง พื้น และการติดตั้งอุปกรณ์ประตูหน้าต่าง สิ่งสุดท้ายที่ไม่ควรละเลยคืองานทำสีและงานจบสีผิวบานประตู โดยเฉพาะประตูหน้าบ้าน โดยความเป็นจริงเราได้สัมผัสคุณค่าของบานประตู ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมต่อกิจกรรมต่าง ๆ และใช้งานมากและบ่อยที่สุดในบ้าน  บานประตูที่ดีและสวยงามไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง แต่อยู่ที่คุณภาพของวัสดุที่ใช้ทำตัวบาน อุปกรณ์ติดตั้งบานและสีผิวสัมผัส บานประตูที่ดีมีขนาดและความหนาที่เหมาะสม ไม้ที่ใช้ควรเป็นไม้เนื้อแข็ง การทำสีผิวบานต้องเรียบเนียนและใช้สีที่มีคุณภาพคงทนต่อการขูดขัดและแรงกระแทก อาจเป็นสีย้อมไม้แบบธรรมชาติหรือทำสีเคลือบพ่น ทั้งนี้ขึ้นอยู่ความชอบ สไตล์ และบรรยากาศการตกแต่งภายในห้อง รายละเอียดเหล่านี้จะเป็นตัวเสริมความสมบูรณ์แบบที่คุณจะพอใจทุกครั้งที่ได้สัมผัส

     บ้านที่ดีไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่เกิดจากการคัดสรรกลั่นกรอง และพิถีพิถันในรายละเอียด ทั้งนี้ขึ้นอยู่ความชัดเจนในความต้องการ วิสัยทัศน์ ความเชื่อและความปรารถนาของผู้ครอบครอง การคัดสรรผู้ออกแบบที่ดีและคำนึงถึงปัจจัยทางกายภาพแวดล้อมมีส่วนช่วยในการหล่อหลอมผลงานคุณภาพ การจะครอบครองบ้านที่ดีสักหนึ่งหลัง เจ้าของบ้านต้องให้เวลา ศึกษาและให้ความสำคัญเพื่อที่บ้านในฝันสามารถสะท้อนและรองรับวิถีการใช้ชีวิต  (Lifestyle) ที่จะสะท้อนความสุนทรียภาพ  (Aestheticness)  ของตนเองได้อย่างเต็มที่