การตรวจงานฐานราก

การตรวจงานฐานราก

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน คราวนี้เราจะเริ่มคุยกันถึงเรื่องงานโครงสร้างแล้วนะครับ ซึ่งจัดว่าเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของการสร้างบ้านครับ คือ ในการสร้างบ้านนั้น “งานฐานราก” ต้องมีความมั่นคงแข็งแรงถูกต้องตามหลักวิศวกรรม ในส่วนงานฐานรากนี้หลายท่านอาจจะมองข้ามไป  ด้วยเพราะความที่ไม่ค่อยมีความรู้ในงานขั้นตอนนี้สักเท่าไรนัก ไม่เหมือนกับงานในขั้นตอน Finishing ที่เจ้าของบ้านทั้งหลายมักจะเข้าให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมมากกว่า ดังนั้นผมขอถือโอกาสนี้แลกเปลี่ยนความรู้ให้กับท่าน พอที่จะให้ท่านสามารถตรวจงานก่อสร้างได้บ้างนะครับ

เสาเข็มคอนกรีต ต้องให้ได้มาตรฐานและถูกต้องตามแบบคำนวณของวิศวกร โดยทั่วไปที่นิยมใช้กัน คือ รูปตัว l , รูปสี่เหลี่ยม, รูปหกเลี่ยมกลวง, ส่วนความยาวก็มีด้วยกันหลายขนาด การเลือกใช้ก็ต้องดูตามแบบคำนวณเป็นหลักครับ

การตอกเข็ม โดยทางที่ปลอดภัยที่สุดควรมีรายการคำนวณการทรุดตัวของเข็มที่เรียกว่า BLOW COUNT เพื่อมั่นใจว่าเสาเข็มที่ตอกไปสามารถรับกำลังได้ตามที่ออกแบบครับ หลังจากตอกจนถึงระดับความลึกที่ต้องการแล้ว ซึ่งความลึกนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ที่ตอกครับ จากนั้นเราจะทำการตัดหัวเข็มเพื่อให้เท่ากันทุกต้นและทำฐานราก (Footing) บนหัวเข็ม สิ่งที่สำคัญในขั้นตอนนี้คือ ท่านต้องตรวจสอบว่าหัวเข็มที่ตัดแล้วควรจะเรียบและต้องไม่มีรอยแตกร้าวใดๆ ครับ

ก่อนการเทคอนกรีตฐานราก สิ่งที่เจ้าของบ้านควรตรวจสอบ ก็เช่น  ศูนย์ของเข็ม ขนาดและจำนวนเหล็กเส้น ไม้แบบหล่อคอนกรีต ว่าสะอาดพอหรือไม่ ลักษณะคอนกรีตที่เทไม่เหลวหรือข้นจนเกินไป

การแกะไม้แบบ ควรแกะหลังจากเทคอนกรีตแล้วไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการบ่มคอนกรีต เพื่อป้องก้นไม่ให้น้ำระเหยออกจากคอนกรีตเร็วเกินไป ซึ่งเป็นเหตุของการแตกร้าวครับผม