บ้านดี…ดีอย่างไร (ตอน 3)

ความสะดวกสบาย (Comfort)
     บ้านที่ออกแบบได้ตรงกับวิถีการใช้ชีวิตจะอยู่อาศัยได้อย่างสะดวกสบาย บ้านที่อยู่สบายไม่จำเป็นต้องใหญ่ หรือมีทุกอย่างครบถ้วน ความสะดวกสบายเกิดจากการออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการใช้สอยที่ไม่ขัดกับพฤติกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะตัวผู้อยู่อาศัยเอง มิใช่ยึดติดหรือลุ่มหลงกับงานตกแต่งที่มีราคาแพงมากเกินไป ปัจจัยความสะดวกสบายพิจารณาได้ดังนี้

ความสะดวกจากการสัญจร (The best way in , out)
     ออกแบบทางการสัญจรที่ลื่นไหลต่อเนื่องนับเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้น ๆ ในการวางผังการใช้สอย โดยเริ่มจากการเข้า – ออกได้อย่างสะดวก ทางเข้าที่เชิญชวนต้อนรับผู้มาเยือน เส้นทางการเดินที่ไม่วกวนติดขัด เส้นทางที่สามารถเดินต่อเนื่องจากกิจกรรมหนึ่งไปอีกกิจกรรมหนึ่งอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จากส่วนที่เป็นส่วนกลางจนไปสู่ส่วนที่เป็นส่วนตัวที่สุด โถงบันไดที่กว้างและทางเดินภายในที่ดูโปร่งสบาย

ความพร้อมใช้งาน (A place for everything)
     จะเป็นความสุขอย่างมากหากอยู่ในกิจกรรมใด ๆ กิจกรรมหนึ่งแล้วมีความพร้อมที่จะหยิบฉวยหรือหาอะไรก็ตามที่ต้องการใช้ในขณะนั้นได้ทันที โดยไม่ต้องไปเดินหาสิ่งที่ต้องการในอีกที่หนึ่ง การใช้มุมที่เหลือของห้องหรือแนวผนังใดผนังหนึ่งสร้างตู้ Build in เพื่อเก็บของสัมภาระสำหรับกิจกรรมที่จะต้องใช้ในห้องนั้น ๆ จะเป็นสร้างความสะดวกอย่างเต็มที่ ไม่ต้องหงุดหงิดจากการเดินทางหาสิ่งของที่ต้องการ แต่ทั้งนี้มีปัจจัยที่ควรคำนึงถึงในการออกแบบคือ แบบตู้หรือชั้นวางของที่ลงตัว การใช้วัสดุที่ดี การจัดวางในตำแหน่งที่เหมาะสม และการตกแต่งอย่างประณีตบรรจง

มุมตกแต่งพิเศษ (Making the most interior)
     บ้านจะมีจุดที่น่าสนใจมากขึ้นจากการออกแบบมีพื้นที่หรือมุมพิเศษที่ทุกคนในครอบครัวมาร่วมสนุกสันทนาการร่วมกัน ห้องครอบครัวที่อบอุ่นเป็นส่วนตัว ห้องรับแขกที่โปร่งโล่งสบาย ห้องอาหารที่เปิดมุมมองสู่สวนสวยภายนอก เก้าอี้ริมหน้าต่างที่คุ้นเคยเหมาะสำหรับนั่งฝันกลางวัน และมุมสวนหลังบ้านที่เหมาะกับการนั่งพักผ่อนยามบ่าย หรือมุมอ่านหนังสือที่เรียบสงบพร้อมตู้หนังสือ Built in ที่ฝังอยู่ในเวิ้งผนังด้านหนึ่งริมหน้าต่าง เหล่านี้จะสร้างความประทับใจให้จดจำแม้เวลาจะผ่านไปนานเท่านาน หรือการสร้างบรรยากาศแห่งความทรงจำ (Theatrical Moves) เช่นการตกแต่งห้องเพดานสูงลู่ตามความลาดชันของหลังคาจั่วพร้อมการตกแต่งโคมไฟการเปิดช่องแสงห้องใต้หลังคา การทำบันไดเป็นบันไดโค้งเวียน ตลอดจนการออกแบบหน้าต่างภายใน (interior window) ที่เปิดทะลุระหว่างห้องภายในบ้านที่ยังคงแยกสัดส่วนการใช้งาน แต่สามารถสร้างบรรยากาศที่ต่อเนื่องของกิจกรรม